MAIN POINT
- สีถังขยะมีทั้งหมด 4 สี ซึ่งแต่ละสีใช้สำหรับแยกประเภทขยะที่แตกต่างกัน ได้แก่ สีเขียว สำหรับขยะเปียก, สีเหลือง สำหรับขยะรีไซเคิล, สีน้ำเงินหรือสีฟ้า สำหรับขยะทั่วไป และสีแดง สำหรับขยะอันตราย
- การทิ้งขยะให้ถูกประเภทตามถังขยะแต่ละสี เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้สามารถกำจัดขยะได้อย่างถูกวิธี ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และค่าใช้จ่ายในครัวเรือน อีกทั้งยังช่วยปลูกฝังนิสัยที่ดีให้กับสังคม เพื่อชีวิตที่ดีและยั่งยืนอย่างแท้จริง
รู้จักความหมายของถังขยะ 4 สี พร้อมประเภทขยะที่ควรทิ้ง
การทิ้งขยะให้ถูกประเภทตามสีถังขยะ ถือเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นง่าย ๆ ของการดูแลโลกใบนี้ ที่ทุกคนสามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน โดยประเทศไทยใช้ระบบถังขยะ 4 สี สำหรับแบ่งประเภทขยะแต่ละชนิด เพื่อให้การจัดเก็บและกำจัดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ในบทความนี้ AP Thai จะพาทุกคนไปรู้จักกับความหมายของถังขยะแต่ละสี และวิธีแยกขยะให้ถูกประเภท พร้อมเข้าใจถึงความสำคัญของการทิ้งขยะให้ถูกถัง เพื่อชีวิตดี ๆ ที่ยั่งยืนของทุกคน
รู้จักความหมายของถังขยะ 4 สี พร้อมประเภทขยะที่ควรทิ้ง
นอกจากการใช้สัญลักษณ์และข้อความกำกับ ระบบคัดแยกขยะในประเทศไทยยังใช้ “สีของถังขยะ” เพื่อช่วยแยกประเภทขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะมองเห็นสีได้ชัดจากระยะไกล ช่วยให้แยกขยะได้ถูกต้องแม้ในที่สาธารณะ และจดจำง่ายสำหรับทุกคน ทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ และประชาชนทั่วไป โดยถังขยะทั้ง 4 สีมีความหมายและประเภทขยะที่ควรทิ้ง ดังนี้
1. ถังขยะสีเขียว
ถังขยะสีเขียว หมายถึง ถังสำหรับใส่ขยะมูลฝอยที่สามารถย่อยสลายได้ หรือที่เรียกกันว่า “ขยะเปียก” หรือ “ขยะอินทรีย์” แยกออกจากขยะทั่วไป เพื่อป้องกันการส่งกลิ่นเหม็นจากขยะรวมที่เน่าเสีย และยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่น ๆ เช่น ทำอาหารสัตว์ ผลิตปุ๋ยหมัก หรือก๊าซชีวภาพได้
ตัวอย่างขยะที่ควรทิ้งลงถังสีเขียว:
- เศษอาหาร เช่น เศษข้าว เศษเนื้อ เปลือกไข่ เศษขนมปัง ก้างปลา กากชา กากกาแฟ
- เศษต้นไม้ เช่น เศษใบไม้ กิ่งไม้ เศษหญ้า
- เศษพืชผักและผลไม้เนื้อแข็ง เช่น เปลือกทุเรียน กะลามะพร้าว ฝักข้าวโพด
วิธีทิ้ง/แยกขยะเปียก
1. ทำความสะอาดก่อน
เริ่มจากเทน้ำออก และกรองเศษอาหารออกจากบรรจุภัณฑ์ก่อนทิ้ง เพื่อไม่ให้ขยะเปียกปนเปื้อนขยะอื่น หรือทำให้ภาชนะสกปรก
2. แยกสิ่งที่ยังใช้ประโยชน์ได้
แยกส่วนที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น เศษอาหารจากพืช ซึ่งสามารถนำไปทำน้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยหมัก หรือเป็นอาหารสัตว์
3.บรรจุขยะอย่างเหมาะสม
สำหรับส่วนที่ต้องการทิ้ง ให้ใส่ในถุงสีเขียว หรือถุงที่สามารถมองเห็นขยะด้านในได้ แล้วมัดปากถุงให้แน่น เพื่อป้องกันกลิ่นรบกวนหรือสัตว์มากัดแทะ
4.ทิ้งขยะอินทรีย์ลงในถังขยะสีเขียว
นำถุงขยะเปียกไปทิ้งลงในถังขยะสีเขียว และรอการจัดเก็บตามเวลาที่สำนักงานเขตกำหนด
2. ถังขยะสีเหลือง
ถังขยะสีเหลือง หมายถึง ถังสำหรับใส่ “ขยะรีไซเคิล” หรือขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ โดยจะต้อง สะอาด แห้ง และไม่ปนเปื้อนสิ่งสกปรก เพื่อให้สามารถนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้อย่างมีประสิทธิภาพ แบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ แก้ว โลหะ กระดาษ พลาสติก และอะลูมิเนียม
ตัวอย่างขยะที่ควรทิ้งลงถังสีเหลือง:
- แก้ว เช่น ขวดแก้ว ขวดโหล (ล้างให้สะอาดก่อนทิ้ง)
- โลหะ เช่น กระป๋องอลูมิเนียม กระป๋องเครื่องดื่ม ฝาขวด
- กระดาษ เช่น หนังสือพิมพ์ กล่องกระดาษ กล่องนม (แบบที่ล้างแล้ว) กระดาษไม่มัน
ยกเว้น: กระดาษฟอยล์ห่อของขวัญ กระดาษเคลือบพลาสติก
- พลาสติก เช่น ขวดน้ำ ขวดปั๊ม กล่องอาหาร ช้อน-ส้อมพลาสติก ถุงหูหิ้วที่สะอาด
- อะลูมิเนียม แบ่งเป็น อะลูมิเนียมหนา เช่น อะไหล่เครื่องยนต์ ลูกสูบ อะลูมิเนียมอัลลอยด์ และอะลูมิเนียมบาง เช่น หม้อ กะละมัง ขันน้ำ กระป๋องเครื่องดื่ม
วิธีทิ้ง/แยกขยะรีไซเคิล
1. ทำความสะอาดก่อน
หากมีของเหลวหรือเศษอาหารติดอยู่ในภาชนะ เช่น แก้วกาแฟ กล่องข้าว หรือขวดน้ำ ควรเทออกแล้วล้างให้สะอาดก่อนคัดแยก เพื่อให้สามารถรีไซเคิลได้จริง ไม่กลายเป็นขยะเสียที่ต้องทิ้งรวม
2. แยกตามประเภท (ถ้าต้องการขาย)
กรณีที่ต้องการขาย ควรคัดแยกขยะตามประเภท เพื่อสะดวกต่อการชั่งน้ำหนักและคำนวณราคาต่อไป
3. บรรจุขยะอย่างเหมาะสม
รวบรวมขยะรีไซเคิลใส่ในถุงใส หรือถุงที่มองเห็นขยะด้านใน แล้วมัดปากถุง หากใส่ถุงดำควรระบุว่า “ขยะรีไซเคิล”
4. เลือกช่องทางจัดการขยะรีไซเคิล
- นำไปขาย หรือ บริจาค ให้กับร้านรับซื้อของเก่า หรือหน่วยงาน/ชุมชนที่รับคัดแยก เช่น ตลาดนัดรีไซเคิล เปลี่ยนขยะเป็นเงิน ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานคร
- ทุกวันพุธกลางเดือน ที่ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า)
- ทุกวันพุธสุดท้ายของเดือน ที่ศาลาว่าการ กทม. 2 (ดินแดง)
- หากไม่มีจุดรับให้ใส่ลงในถังขยะสีเหลือง และรอการจัดเก็บตามเวลาที่สำนักงานเขตกำหนด
3. ถังขยะสีน้ำเงินหรือสีฟ้า
ถังขยะสีน้ำเงิน หรือ สีฟ้า หมายถึง ถังสำหรับใส่ “ขยะทั่วไป” ที่ไม่ใช่ขยะอันตราย แต่ไม่คุ้มค่าที่จะนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ และมักเป็นขยะย่อยสลายยาก หรือไม่สามารถย่อยสลายได้ ซึ่งจำเป็นต้องนำ ไปกำจัดอย่างถูกต้อง อาทิ การฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาล หรือการเผาในเตา
ตัวอย่างขยะที่ควรทิ้งลงถังสีน้ำเงินหรือสีฟ้า:
- บรรจุภัณฑ์แบบเคลือบมัน/เงา เช่น ถุงขนม ซองลูกอม ฟอยล์ห่อขนม กระดาษมันเงา
- ภาชนะปนเปื้อนอาหาร/ไขมัน เช่น กล่องโฟมเปื้อนน้ำมัน
- วัสดุชำรุดที่ไม่สามารถรีไซเคิล เช่น ของเล่นพลาสติกที่แตกหัก
วิธีทิ้ง/แยกขยะทั่วไป
1. รวบรวมขยะทั่วไป
ให้นำขยะใส่ในถุงใส หรือถุงที่มองเห็นขยะด้านใน เพื่อให้เจ้าหน้าที่เห็นประเภทขยะ และตรวจสอบได้ว่าไม่ปะปนกับขยะประเภทอื่น แล้วมัดปากถุงให้แน่น
2. ทิ้งขยะทั่วไปในถังขยะสีน้ำเงินหรือสีฟ้า
นำถุงขยะทั่วไปทิ้งลงในถังขยะสีน้ำเงินหรือสีฟ้า และรอการจัดเก็บตามที่สำนักงานเขตกำหนด
4. ถังขยะสีแดง
ถังขยะสีแดง สามารถแบ่งออกได้ 2 ประเภท ตามประเภทของขยะที่ทิ้ง ได้แก่ ถังสำหรับขยะอันตราย และถังสำหรับขยะติดเชื้อ ซึ่งมีลักษณะการใช้งานและตัวอย่างขยะที่ควรทิ้งแตกต่างกัน ดังนี้
4.1 ถังขยะอันตราย
ถังขยะสีแดง สำหรับขยะอันตราย หมายถึง ถังสำหรับใส่ “ขยะอันตราย” อย่าง สารเคมีมีพิษ วัตถุกัมมันตรังสี หรือวัสดุที่มีส่วนประกอบ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อร่างกาย เช่น ทำให้เกิดอาการระคายเคือง แพ้สารเคมี หรือเป็นพิษต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย หากมีการสัมผัสหรือสูดดมโดยตรง รวมถึงอาจก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรง เช่น การระเบิดได้ จึงต้องแยกเก็บไว้ในถังเฉพาะที่มีสัญลักษณ์ “หัวกะโหลกไขว้” (Hazardous Waste) และนำส่งหน่วยงานที่มีระบบกำจัดเฉพาะ เช่น ศูนย์กำจัดขยะอันตรายของรัฐหรือเอกชนที่ได้รับอนุญาต
ตัวอย่างขยะอันตรายที่ควรทิ้งลงถังสีแดง:
- ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เช่น แบตเตอรี่เก่า หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ สายไฟหรือสายชาร์จที่ชำรุด เครื่องใช้ไฟฟ้าเสีย
- สารเคมี เช่น สเปรย์กำจัดแมลง น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาทำความสะอาดที่มีกรด/ด่างแรง น้ำมันเครื่องเก่า
- ยาและเวชภัณฑ์ เช่น ยาหมดอายุหรือเสื่อมสภาพ
วิธีทิ้ง/แยกขยะอันตราย
1. คัดแยกประเภทขยะอันตราย
ควรแยกใส่ถุงตามประเภทของขยะ เพื่อป้องกันอันตรายและจัดการได้ถูกวิธี เช่น
- ของเหลว: อย่าง น้ำมันเครื่องเก่า ควรใส่ในขวดที่ปิดสนิท
- หลอดไฟ: คัดแยกหลอดไฟสภาพสมบูรณ์กับหลอดไฟแตก กรณีหลอดไฟแตกควรหุ้มด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์อย่างหนา หากหลอดไฟหมดอายุการใช้งานควรใส่ลงในปลอกหลอดไฟ
- กระป๋องสเปรย์: กรณีใช้ไม่หมดควรเจาะกระป๋องและอัดไล่สารเคมีออกให้หมดก่อนทิ้ง เพื่อป้องกันแรงดันตกค้าง
- ถ่านหรือแบตเตอรี่: กรณีสภาพปกติใช้เทปกาวปิดขั้วโลหะทั้งสองด้าน ส่วนกรณีบวมหรือเสื่อมสภาพควรแช่นํ้าประมาณ 5 ชั่วโมง เพื่อลดประจุพลังงาน ก่อนเช็ดให้แห้ง แล้วนำไปใส่ถุง หรือห่อกระดาษ
2. บรรจุขยะอย่างปลอดภัย
รวมขยะอันตรายใส่ในถุงขยะสีแดง หรือถุงดำหนา 2 ชั้น หากไม่มีถุงสีแดง ให้เขียนป้ายหรือแปะข้อความว่า “ขยะอันตราย” พร้อมเขียนกำกับให้ชัดเจนว่า ภายในคืออะไร เช่น หลอดไฟแตก
3. ทิ้งขยะอันตรายให้ถูกที่
นำถุงขยะทิ้งลงในถังขยะสีแดง และรอการจัดเก็บตามที่สำนักงานเขตกำหนด
กรณีเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์ สายชาร์จ และแบตเตอรี่่ลิเธียม สามารถทิ้งได้ตามจุดรับ E-Waste
- สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร 50 เขต
- ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า และดินแดง
- อาคารคณะสิ่งแวดล้อม และศูนย์การค้าสุพรีม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- จุดทิ้ง E-Waste ของ AIS และพันธมิตรกว่า 2,500 จุด ทั่วประเทศ
หรือ บรรจุใส่กล่อง พร้อมเขียนข้อความ “ฝากทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์” และฝากกับเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ที่มาส่งจดหมายได้เลย
4. ล้างมือให้สะอาดหลังจากทิ้งขยะ
หลังทิ้งขยะอันตราย อย่าลืมทำความสะอาดมือทันที ด้วยแอลกอฮอล์ หรือสบู่กับน้ำสะอาดอย่างน้อย 20 วินาที เพื่อความปลอดภัยของตัวเองและผู้อื่น
4.2 ถังขยะติดเชื้อ
ถังขยะสีแดง สำหรับขยะติดเชื้อ หมายถึง ถังสำหรับใส่ “ขยะติดเชื้อ” ซึ่งเป็นขยะที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรคที่สามารถติดต่อกันได้ มักเกิดจากกิจกรรมทางการแพทย์ หรือการดูแลผู้ป่วยภายในครัวเรือน โดยสามารถสังเกตได้จากถังที่มีสัญลักษณ์ “ชีวภาพอันตราย” (Biohazard) กำกับไว้อย่างชัดเจน ก่อนนำไปเผาทำลายที่ศูนย์กำจัดขยะติดเชื้อโดยเฉพาะ
ตัวอย่างขยะติดเชื้อที่ควรทิ้งลงถังสีแดง:
- อุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น เข็มฉีดยา สายน้ำเกลือ หลอดฉีดยา อุปกรณ์เก็บตัวอย่างเชื้อหรือชิ้นเนื้อจากการตรวจวินิจฉัย
- ของใช้ส่วนตัวที่สัมผัสเชื้อจากผู้ป่วย เช่น หน้ากากอนามัยใช้แล้ว ถุงมือยาง ชุด PPE กระดาษทิชชูเปื้อนน้ำมูก
- วัสดุปนเปื้อนเลือด/สารคัดหลั่ง เช่น สำลีเปื้อนเลือด ผ้าอนามัย แผ่นซับเลือด
วิธีทิ้ง/แยกขยะติดเชื้อ
1. สวมถุงมือขณะจัดการขยะ
ควรสวมถุงมือ หน้ากากอนามัย และเสื้อผ้ามิดชิด เพื่อป้องกันการสัมผัสเชื้อโดยตรง
2. แยกขยะติดเชื้อออกจากขยะประเภทอื่น
รวมขยะติดเชื้อใส่ในถุงขยะสีแดง หรือถุงดำหนา 2 ชั้น หากไม่มีถุงสีแดง ให้เขียนป้ายหรือแปะข้อความว่า “ขยะติดเชื้อ” ให้ชัดเจน
3. ฉีดพรมด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ
ใช้แอลกอฮอล์ 70% หรือใช้น้ำยาฟอกผ้าขาวผสมน้ำเล็กน้อย ฉีดพรมภายในถุงขยะ เพื่อฆ่าเชื้อเบื้องต้น ก่อนปิดปากถุงให้สนิทที่สุด
4. ทิ้งขยะติดเชื้อลงถังขยะสีแดง
นำถุงขยะทิ้งลงในถังขยะสีแดงสำหรับขยะติดเชื้อ และรอการจัดเก็บตามที่สำนักงานเขตกำหนด
5. ล้างมือให้สะอาดหลังจากทิ้งขยะ
ใช้แอลกอฮอล์ หรือสบู่กับน้ำสะอาด ล้างมืออย่างน้อย 20 วินาที เพื่อความปลอดภัยของตัวเองและผู้อื่น
สรุปถังขยะแต่ละสีใส่ขยะประเภทไหน
สีถังขยะ | ประเภทขยะ |
ถังขยะสีเขียว | ขยะเปียก หรือ ขยะอินทรีย์ ที่ย่อยสลายได้ |
ถังขยะสีเหลือง | ขยะรีไซเคิล สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ |
ถังขยะสีน้ำเงินหรือสีฟ้า | ขยะทั่วไป ที่ย่อยสลายยากและไม่คุ้มที่จะนำกลับไปใช้ประโยชน์ต่อ |
ถังขยะสีแดง | ขยะอันตราย หรือ ขยะติดเชื้อ |
ความสำคัญของการทิ้งขยะให้ถูกประเภทของถังขยะ
การทิ้งขยะให้ถูกประเภทของถังขยะ 4 สี เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการมีชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ซึ่งไม่เพียงช่วยให้การจัดการขยะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ยังส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคมในระยะยาว ดังนี้
- ลดปริมาณขยะที่ต้องทำลาย: เมื่อแยกทิ้งถูกต้องตามสีถังขยะ จะช่วยเพิ่มโอกาสในการนำขยะอินทรีย์และขยะรีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่หรือแปรรูปได้อย่างเหมาะสม
- ลดค่าใช้จ่าย พร้อมเพิ่มมูลค่า: ลดงบประมาณในการกำจัดขยะ และสร้างรายได้จากการขายขยะรีไซเคิลตามจุดรับซื้อ
- ลดมลพิษและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม: ลดมลพิษจากขยะอันตรายที่อาจรั่วไหลสู่ดิน น้ำ และอากาศ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศได้
- ลดความเสี่ยงต่อสุขภาพ: โดยเฉพาะจากขยะติดเชื้อ เช่น หน้ากากอนามัยหรือกระดาษทิชชูที่ใช้แล้ว ซึ่งอาจแพร่เชื้อสู่คนในบ้านหรือเจ้าหน้าที่เก็บขยะได้
- ปลูกฝังวินัยและความรับผิดชอบต่อสังคม: การทิ้งขยะตามสีถังขยะ เป็นพฤติกรรมง่าย ๆ ที่ช่วยเสริมสร้างจิตสำนึกและส่งต่อวินัยที่ดีให้กับเยาวชน
- สนับสนุนการใช้งบประมาณภาครัฐอย่างคุ้มค่า: เมื่อขยะที่ต้องจัดการลดลง รัฐก็สามารถนำงบไปพัฒนาด้านอื่น เพื่อยกระดับคุณภาพของทุกชีวิตในสังคมได้
รวมสาระดี ๆ เรื่องจัดการขยะ ด้วยบทความน่ารู้จากเอพีไทย
- รวมนวัตกรรมกำจัดขยะ ด้วยแนวคิด Zero Waste ลดขยะให้เหลือศูนย์
- วิธีแยกขยะก่อนทิ้ง พร้อมเทคนิค 3R มาช่วยคัดแยกขยะในบ้าน
- รวมวิธีกำจัดเศษอาหารเหลือทิ้งในบ้าน ให้เป็นประโยชน์
ทิ้งขยะให้ถูกประเภทตามถังขยะแต่ละสี เพื่อชีวิตดี ๆ ที่ยั่งยืน
จุดเริ่มต้นของการมีชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน อาจเริ่มจากก้าวเล็ก ๆ อย่างการแยกขยะให้ถูกประเภทตามถังขยะ 4 สี เพราะเมื่อเราเริ่มทิ้งขยะให้ถูกที่ ก็เหมือนได้ดูแลโลกใบนี้ พร้อมสร้างสิ่งดี ๆ ให้กับตัวเองไปพร้อมกัน
เอพีไทยแลนด์ ช่วยเติมเต็มความหมายของชีวิต
เลือกเป็นเจ้าของโครงการบ้านจาก เอพีไทยแลนด์ เพื่อสร้างชีวิตดี ๆ บนพื้นที่ความสุขที่เราเลือกเอง ไม่ว่าจะเป็น โครงการบ้านเดี่ยวพื้นที่กว้างขวางเป็นส่วนตัว ทาวน์โฮมดีไซน์สวยหรือบ้านแฝดฟังก์ชันใหญ่ คอนโดมิเนียมทำเลติดรถไฟฟ้าเดินทางง่าย และโฮมออฟฟิศฟังก์ชันเจ๋งที่รองรับทุกธุรกิจ สามารถเลือกได้ตามต้องการ เพราะ “บ้าน” ไม่ใช่แค่ที่อยู่อาศัย
EMPOWER LIVING อยู่ .. เพื่อทุกความหมายของคุณ